แนะนำ 5 วิธี เล่นกีฬาอย่างไรไม่ให้ได้รับบาดเจ็บ

แนะนำ 5 วิธี เล่นกีฬาอย่างไรไม่ให้ได้รับบาดเจ็บ

กีฬาทุกชนิดล้วนมีประโยชน์ในการสร้างเสริมสุขภาพและความสนุกสนานของผู้เล่น ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและจิตใจเบิกบาน ทั้งยังช่วยให้ผู้เล่นได้รู้จักเพื่อนใหม่ กระชับความสัมพันธ์ทางสังคมได้อีกด้วย แต่ถึงอย่างนั้น ขึ้นชื่อว่ากีฬาแล้ว ย่อมต้องเกี่ยวข้องกับการใช้กำลังแรงกายและการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อบางส่วนอย่างต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับลักษณะการเล่นของกีฬาชนิดนั้น ๆ ดังนั้น หากผู้เล่นมีสภาพร่างกายที่ไม่พร้อมหรือขาดความระมัดระวังทั้งก่อนเล่น ระหว่างเล่น และหลังเล่นกีฬา ก็อาจเกิดอาการบาดเจ็บได้ง่าย ๆ แต่ถ้ารู้วิธีเตรียมความพร้อม ก็จะหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บได้ ซึ่งเราจะมาแนะนำ 5 วิธีต่อไปนี้

1.เตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนลงสนาม
อันดับแรกก่อนที่เราจะเลือกเล่นกีฬาชนิดใดก็ตาม ต้องสำรวจความพร้อมของร่ายกายตัวเองก่อนว่าเหมาะจะเล่นกีฬาชนิดนั้นหรือไม่ หากสภาพร่างกายหรือลักษณะทางกายภาพของเราไม่เอื้ออำนวย ก็ไม่ควรฝืนเล่นกีฬาที่ไม่เหมาะกับเรา เพราะนอกจากจะทำให้ไม่สนุกแล้ว ยังเสี่ยงก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ง่าย ๆ นอกจากนี้ แม้ว่าเราจะเลือกเล่นกีฬาที่เหมาะกับเราแล้วก็ตาม เราก็ต้องเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมก่อนเล่นกีฬาชนิดนั้นด้วย เช่น การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หรือการงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

2.อบอุ่นร่างกายหรือ “วอร์มอัพ” ก่อนลงสนาม
เชื่อว่าแทบทุกคนคงรู้จักการวอร์มอัพก่อนเล่นกีฬา เพราะเป็นเหมือนขั้นตอนพื้นฐานในวิชาพลศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาเลยก็ว่าได้ เพียงแค่การเหยียดหรือยืดกล้ามเนื้อเบา ๆ รวมถึงการขยับ หมุน บิด อวัยวะส่วนต่าง ๆ เช่น หัวไหล่ ข้อมือ แขน ขา ฯลฯ ก่อนเล่นกีฬาทุกประเภท เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น เพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ ช่วยลดอาการบาดเจ็บจากอาการยอดฮิตอย่าง “ตะคริว” ได้เป็นอย่างดี

3.สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันของกีฬานั้น ๆ ทุกครั้ง
อุปกรณ์ป้องกันในกีฬาชนิดต่าง ๆ ย่อมถูกออกแบบมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ในกีฬาชนิดนั้น ๆ ส่วนใหญ่เป็นการป้องกันอวัยวะส่วนที่ใช้เล่นกีฬาชนิดนั้น เช่น สนับแข้งของกีฬาฟุตบอลมีไว้เพื่อป้องกันบริเวณหน้าแข้งที่มักจะเกิดการปะทะระหว่างแข่งขัน หรือหมวกนิรภัย-เฮดการ์ดของกีฬาต่าง ๆ เช่น มวยสากล, จักรยาน, เทควันโด ฯลฯ ล้วนออกแบบมาเพื่อป้องกันส่วนศีรษะที่เสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บระหว่างเล่นนั่นเอง

4.มีน้ำใจนักกีฬา เล่นแค่พอรู้แพ้ชนะ
จุดประสงค์แรกเริ่มของการเล่นกีฬานั้น นอกจากจะเพื่อความสนุกสนานแล้ว ยังเพื่อเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ๆ ด้วย แต่ปัจจุบัน การเล่นกีฬามักกลายเป็นสังเวียนระบายอารมณ์ กีฬาบางชนิดเต็มไปด้วยการเล่นที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ ซึ่งนอกจากจะทำให้ได้รับบาดเจ็บแล้ว ยังเป็นการทำลายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้เล่นอีกด้วย

5.“คูลดาวน์” หลังเล่นกีฬาทุกครั้ง
ก่อนเล่นมีการ “วอร์มอัพ” หลังเล่นก็จะต้องมีการ “คูลดาวน์” ด้วยเช่นกัน เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายเบา ๆ เช่น การเดินไปมาเพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว ช่วยให้ร่างกายกลับเข้าสู่สภาพปกติ เนื่องจาก ในช่วงหลังเลิกเล่นกีฬาใหม่ ๆ ร่างกายจะมี “กรดแลคติก” ที่เกิดจากการกระบวนการเผาผลาญออกซิเจน ตกค้างจำนวนมาก ดังนั้นเราจึงต้องคูลดาวน์เพื่อช่วยให้ร่างกายค่อย ๆ สลายกรดแลคติกออกจากระบบไหลเวียนโลหิต ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดกล้ามเนื้อหลังเล่นกีฬาได้นั่นเอง

จุดประสงค์ของกีฬาคือการเสริมความแข็งแกร่งของร่างกาย ทำให้มีความสามัคคีและสนุกสนาน ดังนั้น อย่ามองข้ามความปลอดภัย ขอให้นำแนวทางข้างต้นไปใช้ เพื่อให้สามารถเล่นกีฬาที่ชื่นชอบไปได้นานเท่าที่ต้องการ